ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปริศนาคำทาย

การใช้ภาษาในการเล่นทายปริศนา
ปริศนาหรือคำทายต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ ชอบเล่นทายกันนั้นวิเคราะห์ได้ว่า เป็นวิธีการที่ส่งเสริมพัฒนาการทางความคิดสัมพันธ์กับการใช้ภาษาทั้งนี้เพราะปริศนาก็คือ การตั้งคำถามให้เด็กคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ตนเคยพบ เคยห็นมา ใครช่างสังเกตรู้จักคิดเปรียบเทียบความหมายของคำทายกับสิ่งที่ตนเคยพบเห็น ก็สามารถทายถูก ความสนุกจากการทายถูกจะเป็นแรงจูงใจให้เด็กพยายามใช้ความสังเกตควบคู่ไปกับการใช้ภาษาเพิ่มขึ้น เช่น

อะไรเอ่ย เรือนสองเสา หลังคาสองตับ นอนไม่หลับลุกขึ้นร้องเพลง
คำตอบ ไก่ขัน
อะไรเอ่ย ซื้อมาเป็นสีดำ นำไปใช้กลายเป็นสีแดง พอสิ้นแรง กลายเป็นสีเทาต้องเอาไปทิ้ง
คำตอบ ถ่าน
(ภาคเหนือ) ตุ้มกุ๋บขึ้นดอย ก้าบฝอยล่องห้วย (หลังนูน ๆ ขึ้นดอย ครบฝอยไปตามลำธาร)
คำตอบ เต่าและกุ้ง
(ภาคใต้) พร้าวเซกเดียวอยู่บนฟ้า คนทั้งพาราแลเห็นจบ
คำตอบ พระจันทร์เสี้ยว
(ภาคอีสาน) ช่างขึ้นภู ต๊บหูปั๊ว ๆ แมนหญัง (ช้างขึ้นภูเขา ตบหูปั๊ว ๆ อะไรเอีย)
คำตอบ หูกทอผ้า

นับวันการละเล่นของไทยจะหายไป
นี่คือความเป็นจริงที่น่าเสียดายเช่นเดียวกับประเพณีของไทยอีกหลาย ๆ อย่าง ซึ่งจะอยู่ยงคงได้ก็ต่อเมื่อคนไทยเท่านั้นที่รับสืบทอดมาปฏิบัติ โดยมิอาจจะอนุรักษ์เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ดังเช่น วัตถุโบราณได้ เมื่อยุคสมัยผันแปรไป ค่านิยม ความเป็นอยู่ก็เปลี่ยนแปลงไปจากวิถีการดำรงชีวิตในอดีตอย่างมากมาย น่าเสียดายที่ว่าในปัจจุบันของเล่นต่าง ๆ มากมายทั้งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ได้เข้ามาแทนที่การละเล่นต่าง ๆของสมัยก่อนซึ่งแทบจะไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเลย หรือถ้ามีก็จะเป็นอุปกรณ์การเล่นที่นำมาจากธรรมชาติ หรือของใช้ในครัวเรือน หรือไม่ก็คิดประดิษฐ์กันเอาเองไม่ต้องซื้อหา
ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ โทรทัศน์ และวิดีโอ ซึ่งเด็กสมัยนี้ติดกันมาก แทบจะแกะตัวออกมาจากหน้าจอไม่ได้ จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าทำไมเด็กสมัยนี้ถึงมีร่างกายกระปรกกระเปรี้ย สายตาสั้นพัฒนาการทางภาษาไม่กว้างไกล นี่ยังไม่นับเด็กอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นเด็กวัยรุ่นหรืออย่างเข้าวัยรุ่นที่กำลังหลงแสงหลงเสียงเพลงในตลับ ซึ่งภาษาในเนื้อเพลงแทบจะหาคุณค่าทางวรรณศิลป์ไม่เจอเอาเสียเลย เป็นเรื่องน่าคิดว่า สิ่งที่เข้ามาแทนที่ของเก่านั้น ผู้เป็นพ่อแม่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กไทยทั้งหลายได้เลือกสรรสิ่งที่มีคุณค่าและประโยชน์แก่เด็กอย่างแท้หรือไม่
ทัศนะต่อการละเล่นของเด็กไทย

พต.หญิง คุณหญิงผะอบ โปษะกฤษณะ ผู้ก่อตั้งโครงการเผยแพร่เอกลักษณ์ไทย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นท่านผู้หนึ่งที่ทำการวิจัย และรวบรวมการละเล่นของเด็กภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้กรุณาให้ทัศนะถึงเรื่องนี้ว่า “ประโยชน์ของการเล่นไม่ใช้แค่ให้เติบโตแข็งแรง มันยังให้ความรับผิดชอบ การรักษาระเบียบวินัย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เรากำลังไขว่คว้าหากันอยู่ การเล่นจะทำให้เกิดความเคารพกติการ รู้แพ้ รู้ชนะ ฝึกจิตใจให้เป็นคนดี และได้หัดภาษาไทยด้วย การเล่นของเด็กไทยโบราณก็นำมาใช้ได้ดีกับเด็กยุคนี้ เพราะมันเล่นที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องใช้ที่กว้างก็ได้ วัสดุการเล่นก็ใช้ตามท้องถิ่นได้สบาย แต่การเล่นบางอย่างที่มีการพนันด้วยก็ไม่ดี อย่างโยนหลุม ทอยกอง หรือยิงหนังสติ๊ก มันก็อันตราย ต้องระวัง เด็กวัยรุ่นสมัยนี้ไปเล่นเพลง เล่นเทปกันหมด นอนฟังในห้อง ไม่ค่อยจะไปไหน แล้วยังทีวี วิดีโอ พ่อแม่ก็ปรนเปรอให้ เลยไม่รู้จักการเล่น ไปเพลิดเพลินกับเสียงแสงสีเสียงหมด การเล่นกลางแจ้งกายไป ความจริงการเล่นกลางแจ้งมีประโยชน์มาก มันได้อากาศบริสุทธิ์ อวัยวะต่าง ๆ มีการเคลื่อนไหวเติบโต ผู้ใหญ่ก็เล่นได้ ดิฉันนี่เล่นจนถึง ม.๘ เลย อย่างวิ่งเปี้ยว วิ่งสามขา วิ่งกระสอบ สะบ้า สนุกมาก และอีกทัศนะหนึ่งจากดร.จรวยพร ธรณินทร์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านพลศึกษา กรมพลศึกษากระทรวงศึกษาธิการว่า “ในหลักสูตรชั้นประถมมีการละเล่นคละกันทั้งไทย และที่ดัดแปลงจากต่างประเทศ ของไทยก็มีตั้งแต่ วิ่งวัวเป็นตัน แต่จะไม่เป็นรูปแบบที่เป็นทางการ มีเพื่อให้เด็กสนุกได้ออกกำลัง และเพื่ออนุรักษ์การเล่นของเก่าให้คงอยู่ สาเหตุที่การละเล่นของไทยเสื่อมความนิยมไปก็เนื่องมาจากการมีกีฬาสากลเข้ามาเล่นกันมาก และมีการส่งเสริมแข่งขันจนเป็นที่แพร่หลายกว่า บ้านเมืองเจริญขึ้น คนต้องต่อสู้กับเศรษฐกิจโอกาสที่จะเล่นก็น้อยลงไม่มีหน่วยงานใดรับผิดขอบในการอนุรักษ์เรื่องนี้โดยตรง เด็กไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯเรียนหนักขึ้นแข่งขันกันมากขึ้น มีการเน้นการพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ จนไม่สนใจการเล่น คนไทยใช้เวลาพักผ่อนกับการดูทีวี วิดีโอ หรือฟังวิทยุกันมาก ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวเพราะไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย และการเล่นแบบไทย ยังไม่ได้จัดเข้าระบบการแข่งขันแบบสากลมันจึงไม่เร้าใจ ไม่สามารถจะอยู่คงทนต่อไปได้ หากมีการอนุรักษ์เป็นประเพณีท้องถิ่นก็จะอยู่ได้ถาวร การละเล่นของไทยเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นไทย ถ้าไม่มีการเล่นกันต่อไปมันก็จะสูญ ถ้าไม่มีการกระตุ้น สนับสนุน ต่อไปก็จะไม่เหลือ เราต้องช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรมันจึงจะแพร่หลาย” ขอขอบพระคุณ : พต.หญิงคุณหญิง ผอบโปษะกฤษณะ ประธานอนุกรรมการเผยแพร่เอกลักษณ์ของไทยที่กรุณาให้คำแนะนำปรึกษารวมทั้งเอกสารประกอบการค้นคว้า และสไลด์ภาพประกอบการละเล่นของเด็กไทย : คุณจิตรลดา ทัชชะวณิช หัวหน้าบรรณารักษ์ห้องสมุดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่กรุณาอำนวยความสะดวกในการค้นคว้าเรื่องการละเล่นของเด็กไทยนี้


อ้างอิง

http://www.tungsong.com/thaiplay/ThaiGames.asp
http://pirun.ku.ac.th/~g๔๙๘๖๐๕๑/prototype/basic.htm
http://thaiarc.tu.ac.th/poetry/poemt.html

การละเล่นของเด็กไทย






การเล่นกับเด็กเป็นของคู่กันมาตั้งแต่กาลครั้งไหน คงไม่มีใครทราบได้ แต่การเล่นก็เป็นเรื่องที่สืบ เนื่องแสดงถึงเอกลักษณ์ของชนชาติหรือท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ถ่ายทอดเข้าสู่กระแสชีวิตและตกทอดกันมาตั้งแต่ รุ่นปู่ย่าตายายของปู่ย่าตายายโน่น เอาตั้งแต่เมื่อเราเกิดมาลืมตาดูโลกก็คงจะได้เห็นปลาตะเพียนที่ผู้ใหญ่แขวน ไว้เหนือเปลให้เด็กดู “เล่น” เป็นการบริหารลูกตา แหวกว่ายอยู่ในอากาศแล้ว พอโตขึ้นมาสัก ๓-๔ เดือน ผู้ใหญ่ก็จะสอนให้เล่น “จับปูดำ ขยำปูนา” “แกว่งแขนอ่อน เดินไว ๆ ลูกร้องไห้ วิ่งไปวิ่งมา” โดยที่จะคิดถึงจุดประสงค์อื่นใดหรือไม่สุดรู้ แต่ผลที่ตามมานั้นเป็นการหัดให้เด็กใช้กล้ามเนื้อมือ กล้ามเนื้อแขนประสานกับสายตา
การละเล่นเป็นการส่งเสริมให้เด็ก ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และเป็นกิจกรรมที่แฝงไว้ ด้วยสัญลักษณ์ หากศึกษาการเล่นของเด็กในสังคม เท่ากับได้ศึกษาวัฒนธรรมของสังคมนั้นด้วย การละเล่นของเด็กไทย มีความหลากหลาย เช่น หมากเก็บ ว่าว โพงพาง รีรีข้าวสาร เป็นต้น

การละเล่นของเด็กแบบไทย ๆ มีมาตั้งแต่เมื่อไร
ชนชาติไทยมีมาตั้งแต่เมื่อไร การละเล่นแบบไทย ๆ ก็น่าจะมีมาแต่เมื่อนั้นแหละ ถ้าจะเค้นให้เห็นกันเป็นลายลักษณ์อักษร ก็คงต้องขุดศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง มาอ้างพอเป็นหลักฐานได้ราง ๆ ว่า
“..ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื่อน เลื่อน...” ในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ มีการกล่าวถึงการละเล่นของคนสมัยนั้นว่า “...เดือนยี่ถึงการพระราชพิธีบุษยาภิเษก เถลิงพระโค กินเลี้ยงเป็นนักขัตฤกษ์ หมู่นางในก็ได้ดูชุดชักว่าวหง่าวฟังสำเนียง เสียงว่าว ร้องเสนาะลั่นฟ้าไปทั้งทิวาราตรี...” ในสมัยอยุธยา บทละครกรุงเก่าได้กล่าวถึงการละเล่นบางอย่างที่คุณคงจะคุ้นเคยดีเมื่อสมัยยังเด็ก คือลิงชิงหลักและปลาลงอวน ในบทที่ว่า “เมื่อนั้น โฉมนวลพระพี่ศรีจุลา ว่าเจ้าโฉมตรูมโนห์รา มาเราจะเล่นกระไรดี เล่นให้สบายคลายทุกข์ เล่นให้สนุกในวันนี้ จะเล่นให้ขันกันสักทีเล่นให้สนุกกันจริงจริง มาเราจะวิ่งลิงชิงเสา ช้างโน้นนะเจ้าเป็นแดนพี่ ช้างนี้เป็นแดนเจ้านี้ เล่นลิงชิงเสาเหมือนกัน ถ้าใครวิ่งเร็วไปข้างหน้า ถ้าใครวิ่งช้าอยู่ข้างหลัง เอาบัวเป็นเสาเข้าชิงกัน ขยิกไล่ผายผันกันไปมา เมื่อนั้น โฉมนวลพระพี่ศรีจุลา บอกเจ้าโฉมตรูมโนห์รา มาเราจะเล่นปลาลงอวน บัวผุดสุดท้องน้องเป็นปลา ลอยล่องท่องมาเจ้าหน้านวลจะขึงมือกันไว้เป็นสายอวน ดักท่าหน้านวลเจ้าล่องมา ออกหน้าที่ใครจับตัวได้ คุมตัวเอาไว้ว่าได้ปลา ในเรื่อง “อิเหนา” วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ก็ปรากฏการละเล่นหลายอย่าง เช่น ตะกร้อ จ้องเต ขี่ม้าส่งเมือง ดังว่า
“...บ้างตั้งวงเตะตะกร้อเล่น
เพลาเย็นแดดร่มลมสงัด
ปะเตะโต้คู่กันเป็นสันทัด
บ้างถนัดเข้าเตะเป็นน่าดู
ที่หนุ่มหนุ่มคะนองเล่นจ้องเต
สรวลเสเฮฮาขึ้นขี่คู่
บ้างรำอย่างชวามลายู
เป็นเหล่าเหล่าเล่นอยู่บนคิรี”
หรือในขุนช้างขุนแผนกก็กล่าวถึงการละเล่นไม้หึ่งไว้ว่า
“...เมื่อกลางวันยังเห็นเล่นไม้หึ่ง
กับอ้ายอึ่งอีดูกลูกอีมี
แล้วว่าเจ้าเล่าก็ช่างนั่งมึนมี
ว่าแล้วซิอย่าให้ลงในดิน”

ประเภทของการละเล่น
เนื่องจากการละเล่นของไทยเรานั้นมีมากมายจนนึกไม่ถึง (กรมพลศึกษารวบรวมไว้ได้ถึง ๑,๒๐๐ ชนิด) แต่พอจะแบ่งคร่าว ๆ ได้เป็น ๒ ประเภท ใหญ่ ๆ คือ การละเล่นกลางแจ้ง และการละเล่นในร่ม และในแต่ละประเภทก็ยังแบ่งย่อยอีกเป็นการละเล่นที่มีบทร้องประกอบ กับที่ไม่มีบทร้องประกอบ
การละเล่นกลางแจ้งที่มีบทร้องประกอบได้แก่ โพงพาง เสือไล่หมู่ อ้ายเข้อ้ายโขง ซ่อนหาหรือโป้งแปะ เอาเถิด มอญซ่อนผ้า รีรีข้าวสาร ที่มีคำโต้ตอบ เช่น งูกันหาง แม่นาคพระโขนง มะล็อกก๊อกแก็ก เขย่งเก็งกอย ที่ไม่มีบทร้องประกอบ ได้แก่ ล้อต๊อก หยอดหลุม บ้อหุ้น ลูกดิ่ง ลูกข่าง ลูกหิน เตยหรือตาล่อง ข้าวหลามตัด วัวกระทิง ลูกช่วง ห่วงยาง เสือข้ามห้วยเคี่ยว เสือข้ามห้วยหมู่ ตี่จับ แตะหุ่น ตาเขย่ง ยิงหนังสะติ๊ก ปลาหมอ ตกกะทะ ตีลูกล้อ การเล่นว่าว กระโดดเชือกเดี่ยว กระโดดเชือกคู่ กระโดดเชือกหมู่ ร่อนรูป หลุมเมือง ทอดกะทะ หรือหมุนนาฬิกา ขี่ม้าส่งเมือง กาฟักไข่ ตีโป่ง ชักคะเย่อ โปลิศจับขโมย สะบ้า เสือกันวัว ขี่ม้าก้านกล้วย กระดานกระดก วิ่งสามขา วิ่งสวมกระสอบ วิ่งทน ยิงเป็นก้านกล้วย การละเล่นในร่มที่มีบทร้องประกอบ ได้แก่ ขี้ตู่กลางนา ซักส้าว โยกเยก แมงมุม จับปูดำขยำปูนา จีจ่อเจี๊ยบ เด็กเอ๋ยพาย จ้ำจี้ ที่ไม่มีบทร้องประกอบ ได้แก่ ดีดเม็ดมะขามลงหลุม อีขีดอีเขียน อีตัก เสือตกถัง เสือกันวัว หมากกินอิ่ม สีซอ หมากเก็บ หมากตะเกียบ ปั่นแปะ หัวก้อย กำทาย ทายใบสน ตีไก่ เป่ากบ ตีตบแผละ กัดปลา นาฬิกาทางมะพร้าว กงจักร ต่อบ้าน พับกระดาษ ฝนรูป จูงนางเจ้าห้อง การเล่นเลียนแบบผู้ใหญ่เช่นเล่นเป็นพ่อเป็นแม่ เล่นแต่งงาน เล่นหม้อข้าวหม้อแกง แคะขนมครกเล่นขายของ เล่นเข้าทรง ทายคำปริศนา นอกจากนั้นยังมีทบร้องเล่น เช่น จันทร์เอ๋ย จันทร์เจ้า ขอข้าวขอแกงแกง....และบทล้อเลียน เช่น ผมจุก คลุกน้ำปลา เห็นขี้หมานั่งไหว้กระจ๊องหง่อง เป็นต้น การละเล่นที่เล่นกลางแจ้งหรือในร่มก็ได้ที่ไม่มีบทร้อง ได้แก่ ลิงชิงหลัก ขายแตงโม เก้าอี้ดนตรี แข่งเรือคน ดมดอกไม้ปิดตาตีหม้อ ปิดตาต่อหาง โฮกปี๊บ เป่ายิงฉุบ



เด็กแต่ละภาคเล่นเหมือนกันหรือไม่
เนื่องจากในแต่ละภาคมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันทั้งในด้านภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ สภาพแวดล้อม ทำให้การละเล่นของเด็ก แต่ละภาคมีความแตกต่างกันไปบ้างในเรื่องของบทร้องประกอบการละเล่น กติกา และอุปกรณ์การละเล่น แต่โดยส่วนรวมแล้วลักษณะการเล่นจะคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่
ความแตกต่างในเรื่องของบทร้องประกอบการละเล่น
การละเล่นซึ่งมีบทร้องประกอบ บางอย่างมีลักษณะคล้ายกันหรือเหมือน ๆ กัน แต่บทร้องจะแตกต่างไปตามภาษาท้องถิ่น และเนื้อความซึ่งเด็กเป็นผู้คิดขึ้น เช่น การละเล่นจ้ำจี้ หรือ ปะเปิ้มใบพลูของภาคเหนือ จ้ำมู่มี่ของภาคอีสาน และจุ้มจี้ของภาคใต้บทร้องจ้ำจี้ภาคกลางมีหลายบท แต่บทที่เป็นที่เด็กภาคกลางร้องกันเป็น เกือบทุกคนคือ
“จ้ำจี้มะเขือเปราะ กะเทาะหน้าแว่น
พายเรือออกแอ่น กระแท่นต้นกุ่ม
สาวสาวหนุ่มหนุ่ม อาบน้ำท่าไหน
อาบน้ำท่าวัด เอาแป้งที่ไหนผัด เอากระจกที่ไหนส่อง
เยี่ยม ๆ มอง ๆ นกขุนทองร้องวู้”
ปะเปิ้มใบพลูของเด็กเหนือ เป็นการละเล่นเพื่อเสี่ยงทาย เลือกข้าง ผู้เล่นนั่งล้อมวงกัน วางฝ่ามือคว่ำลงบนพื้นคนละมือ คนหนึ่งในวงจะร้องว่า
“ปะเปิ้มใบพลู คนใดมาจู เอากูออกก่อน”
หรือ “จำปุ่นจำปู ปั๋วใครมาดู เอากูออกก่อน”
หรือ “จ้ำจี้จ้ำอวด ลูกมึงไปบวช สึกออกมาเฝียะอีหล้าท้องป่อง”
จ้ำมู่มี่ของเด็กอีสาน เล่นทำนองเดียวกับจ้ำจี้ของภาคกลาง แต่ถ้าคำสุดท้ายไปตกที่ผู้ใดผู้นั้นต้องเป็นคนปิดตานับหนึ่งถึงยี่สิบ แล้วคนอื่นไปซ่อน เป็นการผนวกการละเล่นซ่อนหาเข้ามาด้วย บทร้องจ้ำมู่มี่มีทั้งสั้นและยาว อย่างสั้นคือ “จ้ำมู่มี่ มูหมก มูมน หักขาคนใส่หน้านกก๊ด หน้าลิง หน้าลาย หน้าผีพราย หน้าหยิบ หน้าหย่อม ผอมแปํะอย่างยาว คือ “จ้ำมู่มี่ มูมน หักคอคนใส่หน้านกก๊ด หน้าลิง หน้าลาย หน้าผีพราย หน้าจิ๊ก หน้าก่อ หน้าหย่อมแยะ แม่ตอและ ตอหาง ตอไก่ แล้วไปฝึก ไปฟัน ให้เวียงจันทน์ คือแหวนข้างซ้ายย้ายออกตอกสิ่ว ลิวเปี๊ยะ ฉี่ไก่เปี๊ยะ ติดหางนกจอก แม่มันบอก ไก่น้อยออกซะ
การละเล่นจุ้มจี้ของเด็กภาคใต้ ก็เพื่อจะเล่นซ่อนหาเช่นกัน โดยคนที่เหลือเป็นคนสุดท้ายจากการละเล่นจุ้มจี้ จะเป็นผู้ผิดตาหาเพื่อน ๆ
เพลงที่ร้องประกอบมีหลายบท แตกต่างกันไปแต่ละท้องถิ่น จะยกตัวอย่างมา ๒ บทดังนี้
“จุ้มจี้จุ้มปุด จุ้มแม่สีพุด จุ้มใบหร้าหร้า พุทราเป็นดอก หมากงอกเป็นใบ พุ้งพิ้งลงไป ว่ายน้ำตุกติก”
“จุ้มจี้จุมจวด จุ้มหนวดแมงวัน แมงภู่จับจันทน์แมงวันจับผลุ้ง ฉีกใบตองมารองข้าวแขก น้ำเต้าแตกแหกดังโผลง ช้างเข้าโรง อีโมงเฉ้ง แม่ไก่ฟักร้องก๊อกก๊อก ทิ่มคางคก ยกออกยกออก”

อุปกรณ์การละเล่นของแต่ละท้องถิ่น
ในแต่ละท้องถิ่น เด็ก ๆ จะคิดประดิษฐ์อุปกรณ์ประกอบการละเล่นหรือทำของเล่นขึ้นมาเอง โดยนำวัสดุที่มีตามธรรมชาติหาได้ใกล้ตัวมาใช้ เช่น

เด็กภาคเหนือ จะนำมะม่วงขนาดเล็กที่กินไม่ได้มาร้อยเชือกแล้วใส่เดือย นำมาใช้ตีกันเรียกว่าเล่นไก่มะม่วง
หรือนำเอาไม้เล็ก ๆ มาเล่นกับลูกมะเขือ หรือมะนาวเรียกว่า หมากเก็บ
ไม้หรือไม้แก้งขี้ เล่นเก็บดอกงิ้ว ซึ่งคนเล่นจะรอให้ดอกงิ้วหล่น ใครเห็นก่อนก็ร้อง “อิ๊บ” มีสิทธิ์ได้ดอกงิ้วดอกนั้นไปร้อยใส่เถาวัลย์ ใครได้มากที่สุดก็ชนะ
เล่นบ่าขี้เบ้าทรายก็ใช้ทรายปนดินที่นำมาปั้นเป็นก้อนกลม ๆ มากลิ้งในร่องซึ่งขุดกันริมตลิ่งแม่น้ำนั่นเอง ของเล่นที่ทำกันก็เช่น
• กล้องกบ ใช้ลำไม้ไผ่มีรูกลวงเล็ก ๆ และไม้แกนซึ่งเหลาพอดีกับรูไม้ เอาใบหญ้าขัด (ขัดมอน) นั้นเป็นก้อนยัดลงไปในรูกระบอก เอาแกนแยงจนสุดลำแล้วใส่ก้อนหญ้าอีกก้อน เอาแกนแยงเข้าไปอีกหญ้าก้อนแรกก็จะหลุดออกพร้อมกับเสียงดังโพละก้อนหญ้านี้อาจใช้ลูกหนามคัดเค้า หรือมะกรูดลูกเล็กแทนได้
• ลูกโป่งยางละหุ่ง ใช้ยางที่กรีดจากต้นละหุ่งหรือจากการเด็ดใบ หาอะไรรองน้ำยางไว้ แล้วเอาดอกหญ้าขดเป็นวงจุ่มน้ำยางให้ติดขึ้นมา ค่อย ๆ เป่าตรงกลางบ่วงดอกหญ้า ยางละหุ่งจะยืดและหลุดเป็นลูกโป่งสีรุ้งแวววาว ลอยไปได้ไกลๆ แล้วไม่แตกง่ายด้วย

ของเล่นเด็กภาคอีสาน เล่นข้าวเหนียวติดมือ โดยเอาข้าวเหนียวมาปั้นจนได้ก้อนเท่าหัวแม่มือ แบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่าย ให้ฝ่ายเริ่มเล่นส่งข้าวเหนียวต่อ ๆ กันโดยใช้มือประกบจนครบทุกคนแล้วให้อีกฝ่ายทายว่าข้าวเหนียวอยู่ในมือใคร
• ดึงครกดึงสาก เอาเชือกมาพันครกตำข้าว ปลายเชือก ๒ ข้างผู้ไว้กลางด้ามสาก แต่ละข้างมีผู้ถือสาก ๔ คน แล้วออกแรงดึงพร้อม ๆ กัน ฝ่ายใดร่นมาติดครกถือว่าแพ้
• แมวย่องเหยาะ ใช้ก้านมะพร้าวหรือก้านตาลเหลาให้เป็นเส้นเล็ก ๆ เอามาหักแล้วต่อเป็นรูปแมวย่องเหยาะ (ดังรูป) แล้วให้ผู้เล่นฝ่ายแรกเริ่มเล่นโดยใช้มือจับส่วนใดส่วนหนึ่งของแมว โดยไม่ให้อีกฝ่ายเห็น แล้วให้อีกฝ่ายทายว่าจับตรงไหน ก่อนทายจะมีคนบอกใบ้ให้ เช่น ถ้าจับตรงหัวก็แกล้งเอามือเกาหัว ถ้าทายผิด ๓ ครั้ง ก็แพ้ไป
• เล่นหมากพลู นำหมาก ปูน แก่นคูน ยาเส้น มาตั้งข้างหน้าผู้เล่นเป็นกอง ๆ ให้ผู้เล่นคนแรกส่ายมือเหนือสิ่งของที่กองไว้เร็ว ๆ อีกฝ่ายหนึ่งบอกชื่อสิ่งของ ๑๐ อย่าง คนส่ายมือก็ตะครุบของสิ่งนั้นทันทีตะครุบผิด ก็ถูกทำโทษโดนเขกเข่า
ของเล่นของเด็กภาคใต้ ทางภาคใต้ของธรรมชาติที่เด็กนำมาเล่นกันมากคือมะพร้าวลูกยาง (พารา) และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ซึ่งหาง่ายมีทุกจังหวัด
• ของเล่นจากมะพร้าว ได้แก่ ชนควายพร็อกพร้าว อุปกรณ์การเล่นคือควาย พร็อกพร้าว โดยใช้เปลือกมะพร้าวทำลำตัว กะลามะพร้าวทำเขา และเม็ดมะกล่ำดำทำตา ทำเสร็จแล้วจะได้รูปแบบนี้คนเล่นจะทำควายพร็อกพร้าวมาคนละตัว แล้วมางัดกัน โดยใช้มือจับลำตัวควายหันหน้าคว่ำลงให้เขาทาบกับพื้น งัดไปงัดมา ของใครหักคนนั้นก็แพ้
• ถีบลูกพร้าว ใช้มะพร้าวแก่จัดไม่ปอกเปลือก ๑ ผล ผู้เล่นแบ่งเป็นสองกลุ่ม จับไม้สั้นไม้ยาวหรือใช้วิธี “ชันชี” เพื่อหากลุ่มผู้ถีบผลมะพร้าวกลุ่มแรก เมื่อเริ่มเล่นให้ทั้งสองกลุ่มยืนเป็นวงกลมหันหน้าเข้าหากันโดยยืนสลับกัน นำผลมะพร้าววางกลางวงวางกันมะพร้าวลงดิน จากนั้นผู้เล่นทั้งหมดจับมือกันให้แน่น ถ้าคนเล่นมี ๖ คน ๓ คนจะถีบยับผลมะพร้าว อีก ๓ คนเป็นหลัก ถ้าฝ่ายถีบมีใครล้มก้นแตะพื้นก็แพ้ ให้ฝ่ายเป็นหลักมาถีบแทน
• ร่อนใบพร้าว นำใบมะพร้าวที่ยังติดก้านมาตัดให้ด้านที่มีก้านโตเสมอกัน ใช้มือฉีกใบมะพร้าวออกให้มีขนาดเท่ากัน วิธีเล่นคือจับใบมะพร้าวชูขึ้นเหนือไหล่ จับส่วนที่เป็นใบซึ่งฉีกออกแล้วขว้างไปสุดแรง ใบมะพร้าวก็จะหลุดออกจากก้าน ใครขว้างได้ไกลที่สุดก็เป็นผู้ชนะ
• ของเล่นจากลูกยาง ชักลูกยาง นำลูกยาง (พารา) มาเจาะเอาเนื้อออกหมด เจาะรูด้านบนด้านล่างและด้านข้าง ใช้ไม้ไผ่เหลาแล้วผูกติดกับเชือกด้ายสอดไม้ไผ่เข้าไปในเมล็ดยางทางรูด้านบนหรือด้านล่าง ดึงเชือกด้ายออกมาทางรูด้านข้าง ติดไม้ไผ่แบน ๆ ทางด้านบน ๑ ชิ้น เมื่อจะเล่นหมุนแกนให้เชือกด้ายม้วนเข้าไปอยู่ในลูกยางจนเกือบสุด ดึงปลายเชือกแรง ๆ แล้วปล่อย แกนไม้ไผ่ก็จะหมุนไปหมุนมาตามแรงดึง ผู้เล่นต้องดึงและปล่อยกลับอยู่เรื่อย ๆ จะทำให้แกนและไม้ไผ่แบน ๆ ด้านบนกระทบกันของใครไม้ไผ่หลุด คนนั้นก็แพ้
• ตอกเมล็ดยางพารา สถานที่เล่นควรเป็นพื้นไม้หรือซีเมนต์ ผู้เล่นมี ๒ คน จับไม้สั้นไม้ยาวเพื่อหาฝ่ายตั้งและฝ่ายตี ฝ่ายตีจะนำเมล็ดยางของฝ่ายตั้ง ตั้งลงกับพื้น แล้วนำเมล็ดยางของตัวเองวางข้างบนของฝ่ายตั้ง ใช้มือข้างหนึ่งจัดเมล็ดยางทั้งสองซ้อนกัน มืออีกขัางกำหรือแบตามถนัดตอกลงบนเมล็ดยางที่ซ้อนอยู่ ถ้าของฝ่ายใดแตก ฝ่ายนั้นก็แพ้
• เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เล่นฟัดราว ต้องมีราวรางบนไม้หลักหรือกะลา มะพร้าวอย่างในรูป แล้วขีดเส้นเรียกว่า “น้ำ” สำหรับ “ฟัด” หรือขว้างระยะห่างไม่ใกล้ไม่ไกลนักแล้วผู้เล่นก็จะตกลงกันว่าจะลงหัวครก (เมล็ดมะม่วงหิมพานต์) คนละกี่ลูก แล้วเอาหัวครกทั้งหมดที่ลงกองกลางมาเรียงบนราว จากนั้นก็ผลัดกันยืนที่เส้น “น้ำ” แล้ว “ฟัด” (ขว้าง) หัวครก เมล็ดไหนตกพื้น คนฟัดก็ได้ไป เล่นจนกว่าจะเบื่อ เมื่อเลิกก็เอา “หัวครก” ที่ได้ใส่กระเป๋ากลับบ้าน หรือจะเผากันกันตรงนั้นเลยก็ได้

คุณค่าของการละเล่นไทย
การละเล่นของไทย เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพื้นบ้านเท่า ๆ กันกับเป็นการสะท้อนวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ มาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และเนื่องจากเป็นการ “เล่น” ซึ่งผู้ใหญ่บางคนอาจไม่เห็นคุณค่า นอกจากเห็นว่าเป็นแค่เพียงความสนุกสนานของเด็ก ๆ หนำซ้ำการละเล่นบางอย่างยังเห็นว่าเป็นอันตราย และเป็นการบ่มเพาะนิสัยการพนันอีก เช่น ทอยกอง หว่าหากจะมอง วิเคราะห์กันอย่างจริงจังแล้ว คุณค่าของการละเล่นของไทยเรานี้มีนับเอนกอนันต์ ดังจะว่าไปตามหัวข้อ
ต่อไปนี้
ประโยชน์ทางกาย
อันได้จากการออกกำลังทั้งกลางแจ้งและในร่ม เริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ เล่น “จับปูดำ ขยำปูนา” หรือ “โยกเยกเอย น้ำท่วมเมฆ” เด็กก็จะได้หัดใช้กล้ามเนื้อต่าง ๆ ในตัวพร้อมกับทำท่าให้เข้ากับจังหวะ พอโตขึ้นมาหน่อยก็จะชอบเล่นกลางแจ้งกับเด็กคนอื่น ๆ เป็นกลุ่มเล็กบ้างใหญ่บ้าง เช่น ขี่ม้าก้านกล้วย ตาเขย่ง ตีลูกล้อ วิ่งเปี้ยว ขี่ม้าส่งเมือง ตี่จับ เตย ฯลฯ การละเล่นบางอย่างมีบทร้องประกอบทำให้สนุกครึกครื้นเข้าไปอีก อย่าง รีรีข้าวสาร โพงพาง มอญซ่อนผ้า อ้ายเข้อ้ายโขง งูกินหาง นอกจากจะได้ออกกำลังกายแล้วยังได้ฝึกความว่องไว ฝึกความสัมพันธ์ของการเก็งจังหวะแขนเท้า เช่น กาฟักไข่ ได้ฝึกการใช้ทักษะ ทางตาและมือในการเล็งกะระยะ เช่น การเล่นลูกหิน ทอยกอง
• ฝึกความสังเกต ไหวพริบ และการใช้เชาวน์ปัญญา จากการละเล่นหลายชนิดที่ต้องชิ่งไหวชิงพริบกันระหว่างการต่อสู้ เช่น การเล่นกาฟักไข่ ผู้ขโมยจะหลอกล่อชิงไหวชิงพริบกับเจ้าของไข่ ซึ่งต้องคอยระวัง คาดคะเนไม่ให้ใครมาขโมยไข่ไปได้ หรือการเล่นแนดบกของทางเหนือ ผู้เล่นจะรู้สึกสนุกกับ การล่อหลอกแนดให้มาแตะ แล้วตัวเองต้องไวพอที่จะวิ่งเข้าวงก่อน การเล่นเตยหรือ ต่อล่อง คนล่องก็จะหลอกล่อให้ผู้กั้นเผลอ เพื่อให้ฝ่ายตนไปได้และผู้กั้นก็ต้องคอยสังเกตให้ดีว่า ใครจะเป็นคนผ่านไป
• ฝึกวินัยและการเคารพต่อกติกา การละเล่นทุกอย่างมีกฏในตัวของมันเอง ซึ่งก็มาจากพวกเด็กนั่นเองเป็นคนช่วยกันกำหนดตกลงกันขึ้นมา การเล่นจึงดำเนินไปได้ โดยจะเห็นได้จากก่อนเล่นก็จะมีการจับไม้สั้นไม้ยาว เป่ายิงฉุบ จุ่มจะหลี้ (ของทางเหนือ คล้าย ๆ จ่อจีเจี๊ยบ) หรือ ฉู่ฉี้ (เป่ายิงฉุบของทางภาคใต้ มีปืน น้ำ ก้อนอิฐ แก้ว (น้ำ) หากใครไม่ทำตามกติกาก็จะเข้ากลุ่มเล่นกับเพื่อน ๆ ไม่ได้ เป็นการฝึกการปรับตัวเข้ากับคนอื่นโดยปริยาย
• ฝึกความอดทน เช่น ขี่ม้าส่งเมือง ผู้แพ้จะต้องถูกขี่หลังไปไหน ๆ ก็ได้ บางคนตัวเล็กถูกคนตัวใหญ่ขี่ก็ต้องยอม ถ้าไม่ทนก็เล่นกันไม่ได้ หรือเสือข้ามห้วย คนเป็น “ห้วย” ต้องอดทนทำท่าหลายอย่างให้ผู้เป็น “เสือ” ข้าม บางครั้งต้องเป็น “ห้วย” อยู่นาน เพราะไม่มีเสือตัวใดตาย หรือหา “เสือ” ข้ามได้หมด “ห้วย” ก็ถูกลงโทษ ถูก “เสือ” หามไปทิ้งแล้ววิ่งหนี “ห้วย”
• ฝึกความสามัคคีในคณะ อย่างเช่น ตี่จับในขณะที่ผู้เล่นของฝ่ายหนึ่งเข้าไป “ตี่” เพื่อให้ถูกตัวผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วจะได้วิ่งกลับฝ่ายของตน โดยไม่ถูกจับเป็นเชลยนั้น ผู้เล่นอีกฝ่ายต้องพร้อมใจกันพยายามจับผู้เข้ามา “ตี่” ไว้อย่าให้หลุดมือ เพราะถ้าหลุดกลับไปฝ่ายของตน ผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องกลับไป เป็นเชลยทั้งกลุ่ม หรืออย่างชักคะเย่อ ผู้เล่นของแต่ละฝ่ายต้องพร้อมใจกันออกแรงกันสุดฤทธิ์สุดเดช เพื่อให้เครื่องหมายที่กึ่งกลางของเชือกเข้าไปอยู่ฝ่ายตน
• ฝึกความซื่อสัตย์ ผู้เล่นเป็นคนหาต้องผิดตาให้มิดในขณะที่คนอื่น ๆ วิ่งไปซ่อน อย่างคำร้องประกอบการเล่นชนิดนี้ว่า “ปิดตาไม่มิด สารพิษเข้าตา พ่อแม่ทำนา ได้ข้าวเม็ดเดียว” หรือหมากเก็บอีตัก ถ้ามือของผู้เล่นไปแตะถูกก้อนหินหรือเม็ดผลไม้ก็ต้องยอม “ตาย” ให้คนอื่นเล่นต่อ แม้ว่าคนอื่นจะไม่เห็นด้วยก็ตาม
• ฝึกความรับผิดชอบ การปฏิบัติตามกติกาไม่ว่าจะเป็นการเล่นอะไร ถือว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบของผู้เล่น เช่น เล่นหมุนนาฬิกา ผู้เล่นทุกคนต้องจับมือกันให้แน่นแล้วหงายตัว เอาเท้ายันกัน คนยืนสลับต้องจับมือคนหนึ่งให้แน่น ๆ แล้ววิ่งรอบ ๆ เป็นวงกลมเหมือนนาฬิกา ทุกคนจึงต้องรับผิดชอบจับมือหรือยันเท้าให้มั่น จึงจะหมุนได้สนุก

การละเล่นของเด็กไทยสะท้อนความเป็นไทย
การละเล่นของเด็ก บทร้องประกอบการเล่น ตลอดจนสิ่งต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ ใช้เป็นของเล่นสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม และความเชื่อของคนไทยในสมัยก่อนได้อย่างชัดเจน เห็นภาพ ดังต่อไปนี้
• ภาพของเด็กไทยสมัยก่อน จากบทร้องล้อเลียน “ผมจุก คลุกน้ำปลา เป็นขี้หมา นั่งไหว้ กระจ๊องหง่อง” หรือ “ผมแกละ กระแดะใส่เกือก ตกน้ำตาเหลือก ใส่เกือกข้างเดียว” ก็ทำให้เห็นภาพเด็กสมัยโบราณที่ส่วนใหญ่ไว้ผมจุก ผมแกละกันทั้งเมือง
• ความเป็นอยู่ของผู้ใหญ่ จากบทร้องจ้ำจี้ “สาวสาวหนุ่ม อาบน้ำท่าไหน อาบน้ำท่าวัด” ทำให้นึกภาพของบ้านเรือนสมัยโบราณซึ่งมักอยู่กันริมน้ำ อาบน้ำกันที่ท่า สัญจรกันด้วยเรือเป็นส่วนใหญ่ หรือการละเล่นชนควายด้วยศรีษะ ชนควายพร็อกพร้าว เป็นการเลียนแบบการชนควายชนวัวซึ่งเป็นที่นิยมกันมากทางภาคใต้ ส่วนทางภาคอีสานก็มีการละเล่นดึงครกดึงสาก ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักในการทำมาหากินเพื่อดำรงชีพของชาวนา เป็นต้น
• สะท้อนการทำมาหากินของคนไทย มีการละเล่นและบทร้องประกอบการละเล่นหลายอย่างที่กล่าวถึงข้าววัวควายที่ช่วยไถนาและการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของคนไทยตั้งแต่โบราณถึงปัจจุบัน อย่าง รีรีข้าวสาร การเล่นขโมยลักควาย (ทางใต้) นอกจากทำนาแล้วยังมีการค้าขายจับปลา เช่น เล่นขายแตงโมซึ่งมีบทเจรจา ผู้เล่นสมมติ เป็นแตงโม มีผู้มาซื้อและพูดกับเจ้าของ โพงพาง มีบทร้องที่ว่า”ปลาตาบอดเข้าอดโพงพาง” หรือผีสุ่ม กล่าวถึงการจับปลาโดยใช้สุ่ม
• ความเชื่อ การละเล่นบางอย่างสะท้อนให้เห็นความเชื่อของชาวไทยในเรื่องไสยศาสตร์ เช่นการละเล่นที่มีการเชิญคนทรงอย่าง แม่ศรี ลิงลม ย่าด้ง เป็นต้น ทางภาคอีสานจะมีการละเล่นที่สะท้อนความเชื่อหลายอย่างเช่น เล่นนางดงแล้วจะขอฝนได้สำเร็จ เล่นผีกินเทียนแสดงความเชื่อเรื่องผี มีทั้งกลัวและอยากลองผสมกัน หรือผีเข้าขวด ซึ่งมีทั้งภาคอีสานและทางภาคใต้ ทางอีสานก็มีเล่นแม่นาคพระโขนง และมะล๊อกก๊อกแก๊ก ซึ่งเป็นบทโต้ตอบระห่างผู้เล่นที่สมมุติ เป็นผีกับเด็กคนอื่น ๆ แล้วจบลงที่ผีวิ่งไล่จับเด็กเป็นผีกับเด็กคนอื่น ๆ แล้วจบลงที่ผีวิ่งไล่จับเด็เป็นที่น่าสนุกสนานและ ตื่นเต้นด้วยความกลัวผีไปพร้อม ๆ กัน
• ค่านิยม ในเรื่องของมารยาท ถือว่าคนมีมารยาทเป็นคนมีบุญ คนที่มารยาททรามเป็นคนอาภัพ ดังในคำร้องจ้ำจี้ว่า
“จ้ำจี้เม็ดขนุน ใครมีบุญได้กินสำรับ
ใครผลุบผลับ ได้กินกะลา (หรือกินรางหมาเน่า)”
เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัว มีบทร้องว่าลูกเขยต้องกตัญญูต่อแม่ยาย ในบทเล่นจ้ำจี้อีกบทว่า
“จ้ำจี้ดอกเข็ม มาเล็มดอกหมาก
เป็นครกเป็นสาก ให้แม่ยายตำข้าว
เป็นน้ำเต้า ให้แม่ยายเลียงชด
เป็นชะมด ให้แม่ยายฝนทา ฯลฯ
ค่านิยมที่แม่มีลูกชายก็พาไปบวช ถือเป็นกุศลแก่คนเป็นแม่ว่า
“จ้ำจี้จ้ำจวด พาลูกไปบวชถึงวัดถึงวา ฯลฯ
การยกย่องขุนนางว่าเป็นผู้ได้ผลประโยชน์กว่า ว่า
“ซักส้าวเอย มะนาวโตงเตง
ขุนนางมาเอง มาเล่นซักส้าว
มือใครยาว สาวได้สาวเอา
มือใครสั้น เอาเถาวัลย์ต่อเข้า”

ความหมายของวรรณคดี

วรรณคดีไทย
ความหมายของวรรณคดี
เนื่องจากมีการเข้าใจสับสนระหว่างคำว่า วรรณคดี กับวรรณกรรม อยู่เสมอ เนื่องจากทั้งสองคำ มาจากภาษาอังกฤษว่า Literature เช่นเดียวกัน สำหรับในภาษาไทยนั้นมีการใช้คำว่า "วรรณคดี" ก่อนภายหลังจึงได้เกิดมีคำว่า "วรรณกรรม" ขึ้น และจริง ๆ แล้ว ในอดีตก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ไทยเรายังไม่มีคำว่า "วรรณคดี" ใช้ เราเรียกหนังสือวรรณคดีว่า "หนังสือ" (เช่นเรียกเรื่องท้าวบาเจืองหรือท้าวฮุ่งท้าวเจืองที่ทางเวียงจันทร์ส่งมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกว่า "หนังสือเจียง" หรือเรียกเรื่องมหาภารตะว่า "หนังสือมหาภารตะ" เป็นต้น) หรือเรียกโดยใช้ชื่อผู้แต่งกับชื่อลักษณะคำประพันธ์และประเภทของเนื้อหา (เช่น นิราศนรินทร์คำโคลงหรือนิราศพระยาตรัง เป็นต้น) หรือเรียกโดยใช้ชื่อลักษณะคำประพันธ์และเหตุการณ์หรือโอกาสที่ทำให้เกิดเรื่องนั้น ๆ ขึ้น (เช่น เพลงยางหรือกลอนนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง หรือโคลงนิราศเวียงจันทร์ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเดชาดิศร เป็นต้น) (ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. ๒๕๔๑ : ๑๕) และคำว่า "วรรณคดี" นี้รู้จักกันอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในโอกาสที่ทรงตั้ง "โบราณคดีสโมสร" ขึ้น วัตถุประสงค์ของสโมสรนี้ก็เพื่อส่งเสริมการประพันธ์ การศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี งานที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับวรรณคดีคือ การพิมพ์เผยแพร่วรรณคดีโบราณ เช่น ลิลิตยวนพ่าย ทวาทศมาส และนิราศพระยาตรัง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการตรวจคัดหนังสือที่แต่งดี เพื่อรับพระบรมราชานุญาตประทับพระราชลัญจกรมังกรคาบแก้ว หนังสือใดที่โบราณคดีสโมสรนี้ประทับพระราชลัญจกรมังกรคาบแก้วก็ได้ชื่อว่าเป็น "วรรณคดี" ซึ่งในขณะนั้นถือว่าเป็น "หนังสือดี"
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๗ คำว่า "วรรณคดี" จึงได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งวรรณคดีสโมสร เพื่อส่งเสริมการแต่งหนังสือ เช่นเดียวกับกิจการของโบราณคดีสโมสร และงานที่สำคัญของวรรณคดีสโมสรนี้ก็คือการพิจารณายกย่องหนังสือสำคัญของชาติว่าเรื่องใดเป็นยอดทางไหน (สิทธา พินิจภูวดล และนิตยา กาญจนะวรรณ. ๒๕๒๐ : ๑-๓)สำหรับคำว่า "วรรณคดี" ได้มีผู้ให้คำจำกัดความไว้หลากหลายดังนี้ คือ
คำว่า "วรรณคดี" ตามตัวอักษร หมายความว่า "แนวทางแห่งหนังสือ" คำว่าวรรณคดี เป็นคำสมาส ประกอบด้วยคำ "วรรณ" จากรากศัพท์สันสกฤต วรณ แปลว่า หนังสือ กับคำว่า "คดี" จากรากศัพท์บาลี คติ แปลว่า การดำเนิน การไป ความเป็นไป แบบกว้าง ทาง ลักษณะ ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ (๒๕๓๙ : ๗๕๔) ได้ให้ความหมายว่า หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี
สิทธา พินิจภูวดล , รื่นฤทัย สัจจพันธ์ และเสาวลักษณ์ อนันตศานต์ (๒๕๒๔ : ๑) ได้อธิบายเพิ่มเติมความหมายของวรรณคดีที่ว่าเป็นหนังสือแต่งดี นั้นได้แก่ บทประพันธ์ทุกชนิดที่ผู้แต่งมีวิธีเขียนที่ดีมีศิลปะ ก่อให้เกิดความประทับใจแก่ผู้อ่านสร้างความสนุกเพลิดเพลินให้แก่ผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านมีมโนภาพไปตามจินตนาการของผู้แต่ง เร้าให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจไปตามความรู้สึกของผู้แต่ง บางครั้งผู้แต่งจะสอดแทรกความรู้และทัศนคติในเรื่องต่าง ๆ ลงในงานของเขา แต่ก็มิได้หมายความว่าผู้แต่งมุ่งให้ความรู้หรือมุ่งสอนปรัชญา ศีลธรรม หรือเรื่องของชีวิต ทั้งนี้เพราะวรรณคดีไม่ใช่ตำราซึ่งมุ่งสอนความรู้เป็นสำคัญ ถ้าตำราเล่มใดมีลักษณะเป็นวรรณคดีก็จะได้รับการยกย่อง เช่น ไตรภูมิพระร่วง ปฐมสมโพธิกถา เป็นต้น วรรณคดีเป็นที่รวมความรู้สึกนึกคิด ความรอบรู้ ความฉลาด และสติปัญญาอันลึกซึ้ง คนที่อ่านวรรณคดีก็จะได้รับถ่ายทอดความฉลาดรอบรู้ไว้ด้วยมากบ้างน้อยบ้าง
ชลธิรา กลัดอยู่ (อ้างถึงใน สนิท ตั้งทวี. ๒๕๒๘ : ๑) อธิบายว่า วรรณคดี มีความหมายที่ใช้กันทั่วไปสองประการ คือ ความหมายประการแรกได้แก่ หนังสือที่เรียบเรียงออกมาเป็นตัวหนังสือหรือนัยหนึ่งหมายถึงหนังสือทั่วไปนั่นเอง แต่มีเงาความหมายว่าเป็นหนังสือเก่าถือเป็นมรดกที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ส่วนความหมายที่สอง มีความหมายคล้ายคลึงกับคำ "กวีนิพนธ์" คือถือว่าเป็นหนังสือที่ได้รับการยกย่องแล้วจากกลุ่มคนที่นับว่าเป็นคนชั้นนำในวงการหนังสือ มีนัยลึกลงไปอีกว่ามีคุณค่าสูงส่งเข้าขั้นวรรณศิลป์ คือเป็นแบบอย่างที่ยกย่องเชิดชูกันต่อไป
เจือ สตะเวทิน (๒๕๑๔ : ๘) กล่าวว่า วรรณคดี คือหนังสือหรือบันทึกความคิดที่ดีที่สุดด้วยท่วงทำนองเขียน (Style) ที่ประณีตบรรจงครบองค์แห่งศิลปะของการเขียน สามารถดลใจให้ผู้อ่านผู้ฟังเกิดความปิติเพลิดเพลิน มีความรู้สึกร่วมกับผู้แต่ง เห็นจริงเห็นจังกับผู้แต่ง เรียกกันเป็นสามัญว่า มีความสะเทือนอารมณ์ ทั้งต้องประกอบไปด้วยคุณค่าสาระอีกด้วย
ส่วน วิทย์ ศิวะศริยานนท์ (๒๕๑๙ : ๕) อธิบายว่า บทประพันธ์ที่เป็นวรรณคดี คือ บทประพันธ์ที่มุ่งให้ความเพลิดเพลินให้เกิดความสำนึกคิด (Imagination) และอารมณ์ต่าง ๆ ตามผู้เขียน นอกจากนี้บทประพันธ์ที่เป็นวรรณคดีจะต้องมีรูปศิลปะ (Form) และรูปศิลปะนี้เองที่ทำให้วรรณคดีมีความงาม
ศุภชัย รัตนโกมุท และสะอาด อินทรสาลี (๒๕๑๘ : ๒) กล่าวว่า วรรณคดีคือหนังสือแต่งดี ได้รับยกย่องจากผู้อ่านหลาย ๆ คนเห็นพ้องต้องกันว่าแต่งดี จะเป็น "ร้อยแก้ว" เช่น สามก๊ก ฉบับของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) หรือจะเป็น "ร้อยกรอง" เช่น ลิลิตพระลอ หรือบทละครเรื่องอิเหนา ของ
รัชกาลที่ ๒ ก็ได้ พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่า วรรณคดีเป็นนามธรรมที่เราตั้งขึ้นเพื่อใช้เรียกศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งมีวิวัฒนาการมาแต่อักษรศาสตร์ กวีได้ใช้ความสามารถรจนาเรื่องนั้น ๆ ขึ้น เช่น จัดวรรคคำ เสียงคำ ให้ได้ความหมาย เกิดอารมณ์ เกิดสุนทรียะ ได้อ่านเรื่องแล้วรู้สึกเพลิดเพลินเกิดอารมณ์คล้อยตามท้องเรื่อง ส่งเสริมความรอบรู้ มีสำนวนโวหารงดงาม ไพเราะ คมคาย จูงใจให้เกิดความซาบซึ้ง เพราะใช้คำได้เหมาะกับโอกาส เหตุการณ์ เป็นต้น
พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (๒๕๐๖ : ๓) ทรงให้คำจำกัดความของวรรณคดีไว้ว่า "วรรณคดีโดยแท้ เป็นศิลปกรรมหรือสิ่งสุนทร ซึ่งนักประพันธ์มีความรู้สึกนึกคิดอย่างใดแล้ว ก็ระบายภาพให้ผู้อ่านได้ชมความงามตามที่นักประพันธ์รู้สึกนึกคิดไว้ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับการให้ความหมาย ของ ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ( ๒๕๑๗ : ๑๙๐) ที่กล่าวว่า งานประพันธ์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณคดี มักจะได้รับการยกย่องในทางความงามและทางความดีด้วย
สำหรับพระยาอนุมานราชธน (๒๕๑๕ : ๘) ได้ให้ความหมายว่า วรรณคดีในความหมายอีกนัยหนึ่ง หมายถึงบทประพันธ์ซึ่งมีลักษณะเด่นในเชิงประพันธ์ มีค่าทางอารมณ์และความรู้สึกแก่ผู้อ่าน ผู้ฟังคือ วรรณคดีมีวรรณศิลป์
วิลเลียม เจ. ลอง ( Long. ๑๙๖๔ : ๓) กล่าวว่า วรรณคดี ในความหมายกว้าง ๆ หมายเอาเพียง การจดบันทึกของเผ่าพันธุ์ ซึ่งรวมเอาประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ บทกวีและข้อเขียนแบบนวนิยายของเผ่าพันธุ์นั้น ๆ ในความหมายแคบ วรรณคดี คือการบันทึกชีวิตแบบมีศิลป์ สรุปแล้ววรรณคดี หมายถึง การแสดงออกซึ่งชีวิตในลักษณะข้อเท็จจริงและความสวยงาม วรรณคดีเป็นบันทึกชีวิต ความคิด อารมณ์ และแรงดลใจของมนุษยชาติ วรรณคดีคือประวัติศาสตร์ทางวิญญาณของมนุษย์ (กุเทพ ใสกระจ่าง, พระมหา. ๒๕๒๑ : ๘)
อาร์โนล เบนเน็ท (Arnold Bennett) (อ้างถึงใน สิทธา พินิจภูวดล. ๒๕๑๕ : ๕) อธิบายว่า วรรณคดีคือ การแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้สึกซาบซึ้งตรึงใจของกวี อันเกิดจากการสัมผัสกับสิ่งจับใจของชีวิต
ส่วนข้อคิดเห็นใน The Great World Encyclopedia (Clapham ๑๙๘๔ : ๓๘) ได้อธิบายว่า วรรณคดี เป็นงานเขียนประเภทหนึ่งที่มีความยิ่งใหญ่ สำคัญ และน่าจดจำ ซึ่งเป็นผลงานที่สร้างขึ้นจากความคิดของมนุษย์ บางครั้งคำว่า วรรณคดี จะหมายถึง งานเขียนทุกชนิด ตั้งแต่ หนังสือพิมพ์แผ่นปลิวเอกสารประกอบการสอน ไปจนถึงบทกวีของ John Keats หรือ นวนิยายของ Charles Dickens แต่ในความเป็นจริงนั้นวรรณคดี จะหมายถึง งานเขียนที่ยังคงมีคนอ่านอยู่ในปัจจุบันนี้ดังเช่น งานของ Keats และ Dickens ขณะที่แผ่นปลิวเอกสารประกอบการสอน และหนังสือพิมพ์ อาจจะมีคนลืมหรือโยนทิ้งไปแล้ว
จากความหมายของวรรณคดีที่มีผู้ให้ไว้จำนวนมากนั้นสรุปได้ว่า วรรณคดีเป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้ง ไม่เฉพาะแต่เพียงพิจารณาความหมายตามรูปศัพท์ แต่ต้องศึกษาถึงความหมายลึกซึ้งกว่านั้นหนังสือที่เป็นวรรณคดีจะต้องเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นด้วยความประณีตบรรจงทั้งในด้านการใช้ภาษา การแสดงความคิด รูปแบบและเนื้อหา อีกทั้งคุณค่าทางอารมณ์และความประทับใจในความงามด้านต่าง ๆ ตามที่ผู้เขียนสร้างขึ้น
(วันเนาว์ ยูเด็น. (๒๕๓๗ : ๕) สรุปได้ว่า วรรณคดี ก็คือ หนังสือหรืองานเขียนที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี มีความงามด้านภาษา การใช้คำ มีคุณค่าเข้าขั้นวรรณศิลป์ และมีเนื้อหาที่ดีสามารถโน้มน้าวจิตใจผู้อ่านให้เกิดความเพลิดเพลิน ความสำนึกคิด และอารมณ์ต่าง ๆ ตามผู้เขียน และเพื่อให้เข้าใจความหมายของวรรณคดีให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงขอกล่าวถึงคุณสมบัติที่สำคัญของวรรณคดีซึ่งพระมหากุเทพ ใสกระจ่าง (๒๕๒๑ : ๙) ได้สรุปไว้ดังนี้
๑. มีความเป็นศิลป (Artistic) ในคุณลักษณะข้อนี้วรรณคดีต้องมีความงดงาม กล่าวคือ ต้องสะท้อนชีวิตในแง่ความเป็นจริงที่ถูกต้องงดงาม
๒. มีลักษณะของการคาดคะเน (Suggestive) วรรณคดีจะไม่อยู่ในลักษณะเปิดเผยแบบตายตัว หากแต่จะเข้าใจได้โดยการคาดคะเน การตีความหมายทางวรรณคดีจะขึ้นอยู่กับการคาดคะเนของแต่ละคน การคาดคะเนอาจจะแตกต่างกันไปตามความซาบซึ้ง (Appreciation) ของคนอ่าน
๓. มีลักษณะของความคงทน (Permanent) เป็นที่น่าสังเกตว่า งานที่เป็นวรรณคดีนั้น โดยมากจะมีลักษณะคงทน กล่าวคือ เป็นที่นิยมและอยู่ในความทรงจำของคนอ่านในระยะเวลาอันยาวนาน ไม่ใช่เป็นที่นิยมกันในวันนี้วันเดียว

การพูด



หลักการพูด
หลักการพูดโดยทั่วไป
๑. ศึกษาเกี่ยวกับผู้ฟังและสิ่งแวดล้อม
๒. เลือกเรื่องและจัดเนื้อเรื่องที่พูด
๓. เตรียมตัวผู้พูด
๑. ศึกษาเกี่ยวกับผู้ฟังและสิ่งแวดล้อม มีรายละเอียดดังนี้
๑.๑ ศึกษาผู้ฟังว่าอยู่ในวัยใด เพศใด การศึกษาระดับใด อาชีพอะไร
๑.๒ ศึกษาผู้ฟังว่ามีเจตคติ อารมณ์ และรสนิยมอย่างไร
๑.๓ ศึกษาสภาพแวดล้อม เช่น สถานที่ที่จะพูด ช่วงเวลา
๒. เลือกเรื่องและจัดเนื้อเรื่องที่พูด
๒.๑ การเลือกเรื่อง ควรเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้ฟังเป็น
เรื่องที่แปลกใหม่
๒.๒ การจัดเนื้อเรื่อง เริ่มจาก คำนำ ต้องดึงดูดความสนใจ ไม่กล่าวถ่อมตัว แก้ตัว หรือกล่าวถึงความเป็นมาของเรื่องไกลเกินไป ควรเป็นใจความเพียง ๒ – ๓ ประโยค ส่วนเนื้อเรื่องต้องเป็นข้อเท็จจริง หลักฐาน เหตุผล และตัวอย่างที่ชัดเจน การสรุปไม่ใช่การย่อเรื่องที่พูดแล้ว แต่เป็นการเน้นประเด็นสำคัญด้วยถ้อยคำสำนวนที่เด่นเป็นพิเศษ เพื่อสร้างความประทับใจ
๓. เตรียมตัวผู้พูด
ผู้พูดที่ไม่มีประสบการณ์ในการพูดในที่ประชุมชนมาก่อนมักตื่นเต้น ประหม่า เสียงสั่น ท่าทางเคอะเขิน อันเป็นลักษณะของการขาดความมั่นใจใน ตนเอง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การพูดล้มเหลวผู้พูดจึงควรเตรียมตัวและฝึกฝนการพูดอยู่ตลอดเวลา เพื่อความมั่นใจในตนเอง นอกจากนี้ยังต้องมีการเตรียมตัวดังนี้

การเตรียมบุคลิกภาพ
ข้อแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมบุคลิกภาพที่ดีของผู้พูด มีดังนี้
๑. การแต่งกาย
๑.๑ เหมาะสมกับตัวเอง
๑.๒ เหมาะสมกับกาลเทศะ
๑.๓ เหมาะสมกับวัยและสมัยนิยม
๑.๔ สะอาดและเป็นระเบียบ
๒. การใช้เสียง
๒.๑ มีความดัง – ค่อย พอเหมาะที่ผู้ฟังจะได้ยินทั่วไป
๒.๒ มีความนุ่มนวล แจ่มใส ชัดเจน ไม่แหบเครือ
๒.๓ ออกเสียง ร ล ควบกล้ำ ได้ชัดเจน
๒.๔ หลีกเลี่ยงการใช้เสียงระดับเดียวกันตลอดเวลา ควรมีการเน้นน้ำเสียงบ้าง
๒.๕ ไม่ควรใช้เสียงที่เปล่งออกมาโดยไร้ความหมาย เช่น อ่า อ้า เอ่อ เอ้อ หรือ เสียงที่เปล่งออกมาจากความเคยชิน เช่น ก็ แล้วก็ แบบ แบบว่า นะครับ ครับ นะคะ นะฮะ เป็นต้น
๓. ภาษา
๓.๑ ใช้ข้อความหรือประโยคที่สั้น เข้าใจง่าย (ง่าย งาม ชัดเจน)
๓.๒ ใช้ภาษาถูกต้องตามหลักภาษาไทย
๓.๓ ใช้ภาษาสนทนาที่สุภาพ ไม่เป็นภาษาเขียนหรือภาษาราชการ แต่ไม่ใช่ภาษาตลาด
๓.๔ หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาสแลง สบถ คำหยาบ คำภาษาต่างประเทศโดยไม่จำเป็น ศัพท์ทางวิชาการที่ไม่เหมาะสมกับผู้ฟัง รวมทั้งคำที่ไม่สุภาพจนเกินไป เช่น ศรีษะแม่เท้า แมวรับประทานปลา
๓.๕ ใช้ภาษาให้เหมาะสมกับบุคคลและโอกาส
๔. ท่วงทีและอากัปกิริยาที่เหมาะสม สามารถช่วยเสริมสร้างการพูดได้ดังนี้
๔.๑ ช่วยในการสื่อความหมายให้ผู้ฟังเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้พูดได้ดียิ่งขึ้น
๔.๒ เรียกร้องความสนใจจากผู้ฟัง
๔.๓ ช่วยผ่อนคลายความเคร่งเครียดของผู้พูด
๔.๔ ทำให้การพูดเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น
๕. การทรงตัว
๕.๑ ท่าเดิน เช่น เดินขึ้นเวที เดินในขณะพูด เดินกลับมายังที่เดิม ต้องเดินตัวตรง ไม่ช้าไม่เร็วเกินไป เมื่อถึงที่จะพูดควรหยุดสักครู่ กวาดสายตาให้ทั่วกลุ่มผู้ฟังแล้วจึงเริ่มพูด
๕.๒ ท่ายืน เท้าทั้งคู่ควรชิดกันพองาม ให้น้ำหนักตัวลงที่เท้าทั้งสอง ไม่ยืนเอียง ไม่เท้าโต๊ะ ไม่ยืนแอ่นหน้าแอ่นหลัง โคลงตัวไปมา ไม่ยืนเหมือนหุ่น หรือยืนท่านางแบบ
๖. การใช้มือประกอบการพูด
๖.๑ ใช้ให้ตรงความหมายที่พูด
๖.๒ ไม่ใช้ซ้ำซาก
๗. การใช้สายตา
๗.๑ ควรมองผู้ฟังให้ทั่วถึง อย่ามองจุดเดียว
๗.๒ ถ้ากลุ่มผู้ฟังกลุ่มใหญ่ ค่อยๆ กวาดสายตาไปยังผู้ฟังกลุ่มต่างๆ
๗.๓ ควรมองสบตาไม่ใช่จ้องหรือหลบตา
๗.๔ ไม่มองข้ามศีรษะผู้ฟัง ไม่มองเพดาน พื้นห้อง หรือมองออกไปนอกห้องตลอดเวลา
๘. การแสดงสีหน้า
๘.๑ แสดงสีหน้าให้สอดคล้องตามเรื่องที่พูด แต่ไม่แสดงมากเกินไปจนเหมือนเล่นละคร
๘.๒ ไม่ยิ้มหรือบึ้งมากเกินไป
๘.๓ ไม่ยักคิ้วหลิ่วตา กระพริบตาจนบ่อยครั้ง
๙. ปฏิภาณไหวพริบ
ขณะที่พูดอยู่อาจมีปัญหาเฉพาะหน้าเกิดขึ้น ปัญหาที่ไม่คาดคิดนี้ ผู้พูดจะต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบ เพื่อแก้ไขปัญหาในการพูดให้ราบรื่นด้วยดี
๑๐. การลำดับหัวข้อเรื่อง
คือ รายละเอียดในการวางโครงเรื่อง เป็นการจัดสาระสำคัญของข้อความทั้งหมดให้สอดคล้องและเป็นระเบียบต่อเนื่องกันไป ช่วยให้ผู้พูดและผู้ฟังไม่สับสน
๑๑. การดำเนินเรื่องตามความมุ่งหมาย
ผู้พูดควรคำนึกถึงจุดมุ่งหมายที่ได้วางไว้ เช่น พูดเพื่อให้ความรู้ พูดเพื่อชักจูงใจ หรือพูดเพื่อความบันเทิง พยายามดำเนินเรื่องสู่จุดมุ่งหมายนั้นๆ

ไตรยางศ์

ไตรยางศ์


ที่มา http://www.thaigoodview.com/files/u๓๑๔๙๘/Board_Wide.jpg

ไตรยางศ์ การแบ่งพยัญชนะ ๔๔ ตัวออกเป็น ๓ หมวดหมู่ ดังนี้
๑. อักษรสูง มี ๑๑ ตัว คือ ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ศ ห
( ฉันฝากขวดขี้ผึ้งใส่ถุงให้เศรษฐี )
๒. อักษรกลาง มี ๙ ตัว ก จ ด ต บ ป อ ฎ ฏ
( ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง ฎ ฏ )
๓.อักษรต่ำ มี ๒๔ ตัวแบ่งเป็น
- อักษรต่ำคู่ มี ๑๔ ตัว คือ ค ฅ ฆ ช ซ ฌ ฑ ฒ ท ธ พ ฟ ภ ฮ
(พ่อค้าฟันทองซื้อช้างฮ่อ ฅ ฆ ฌ ฑ ฒ ธ ภ )
- อักษรต่ำเดี่ยว มี ๑๐ ตัว คือ ง ญ น ย ณ ร ว ม ฬ ล
( งูใหญ่นอนอยู่ ณ ริมวัดโมฬีโลก )
***** เมื่อผันให้ครบ ๕ เสียงต้องผันร่วมกับ ห *****

คำเป็น คำตาย & อักษรคู่ อักษรเดี่ยว

คำเป็น
๑. เป็นคำที่ผสมด้วยสระเสียงยาวในแม่ ก กา เช่น ป้า มี ปู
๒. เป็นคำที่มีตัวสะกดอยู่ในแม่กง กน กม เกย เกอว เช่น จง มั่น ชม เชย ดาว

คำตาย
๑. เป็นคำที่ผสมด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก กา เช่น จะ ปะ ทุ
๒. เป็นคำที่มีตัวสะกดในแม่ กก กด กบ เช่น นัด พบ นก

อักษรคู่ อักษรเดี่ยว
อักษรต่ำ ๒๔ ตัว แบ่งออกเป็น ๒ พวก คือ
- อักษรต่ำคู่ คือ อักษรที่มีเสียงคู่กับอักษรสูง มี ๑๔ ตัว (พยัญชนะแถวที่ ๓, ๔) ได้แก่
ค ต ฆ คู่กับ ข
ฑ ฒ ท ธ คู่กับ ฐ ถ
ช ฌ คู่กับ ฉ
พ ภ คู่กับ ผ
ฮ คู่กับ ห
ซ คู่กับ ศ ษ ส
ฟ คู่กับ ฝ
- อักษรต่ำเดี่ยว คือ อักษรต่ำที่เสียงไม่คู่กับอักษรสูง มี ๑๐ ตัว (พยัญชนะแถวที่ ๕ กับเศษวรรค ย ร ล ว ฬ) ได้แก่ ง ญ ณ น ม ย ร ล ว ฬ เช่น งู ใหญ่นอน อยู่ ณ ริม วัด

คำครุ-ลหุ
๑.ครุ (คะ-รุ) หมายถึง คำหรือพยางค์ในภาษาไทยที่มี "เสียงหนัก" ซึ่งมีลักษณะข้อหนึ่งข้อใดต่อไปนี้
- คำหรือพยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงยาวและ อำ ใอ ไอ เอา ในแม่ ก กา
ปู นา ขา เก ตัว ใหญ่ เสีย ไม่ มี ฯลฯ
- คำหรือพยางค์ที่มีตัวสะกด ไม่ว่าสระเสียงสั้นหรือเสียงยาว
เดือน เพ็ญ สวย เย็น เห็น (อ)ร่าม ฯลฯ
ลหุ (ละ-หุ) หมายถึง คำหรือพยางค์ในภาษาไทยที่มี "เสียงเบา" ซึ่งประสมด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก กา เช่น สุ จิ ปุ ลิ ส(งบ) สะ(อาด) ส(ว่าง) ฯลฯ
ครุ และ ลหุ มักใช้เป็นตัวกำหนดฉันทลักษณ์ในบทร้องกรองเช่น ฉันท์ กาพย์ เป็นต้น

คำเป็น คำตาย
คำเป็น
๑. เป็นคำที่ผสมด้วยสระเสียงยาวในแม่ ก กา เช่น ป้า มี ปู
๒. เป็นคำที่มีตัวสะกดอยู่ในแม่กง กน กม เกย เกอว เช่น จง มั่น ชม เชย ดาว
คำตาย
๑. เป็นคำที่ผสมด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก กา เช่น จะ ปะ ทุ
๒. เป็นคำที่มีตัวสะกดในแม่ กก กด กบ เช่น นัด พบ นก

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ฝึกทักษะภาษาอังกฤษ

วันนี้เข้าไปอ่าน บล็อก ของคุณพิพัฒน์ มีความรู้เพิ่มขึ้นมาก ก็ขอขอบคุณท่านมากที่ทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้นตามความสนใจ....เพื่อนคนไหนที่มีความสนใจเหมือนกัน ก็เอาความรู้ที่ได้ไปฝึกฝนทักษะด้านภาษาเพิ่มเติมได้เลย

กล่าวว่ามี เว็บดูวีดิโอ 2 เว็บที่เทียบระดับ YouTube

เชื่อว่าเมื่อนึกถึงเว็บดูหรือดาวน์โหลดวีดิโอ คนไทยส่วนใหญ่ต้องนึกถึงเว็บ YouTube.com ทันที YouTube นี้น่าจะเป็นเว็บวีดิโอที่ดังที่สุดในโลก ตามการจัดระดับของ Google PageRank ได้ถึง 9/10

สำหรับวันนี้ขอแนะนำเว็บวีดิโอเพิ่มเติมอีก 2 เว็บ คือ
[1] youku.com
[2] tudou.com
ซึ่งมี PageRank = 7/10 ซึ่งน้อยกว่า YouTube 2 หมายเลขเท่านั้น ทั้ง 2 เว็บนี้มีวีดิโอทุกประเภทที่ YouTube มี ซึ่งรวมทั้งวีดิโอสอนภาษาอังกฤษ ท่านสามารถพิมพ์ keyword ง่าย ๆ ลงไปได้ เช่น English study, English conversation, English pronunciation เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มี 2 อย่างที่รู้สึกว่า 2 เว็บนี้ดีกว่า YouTube คือ

1.มีวีดิโอขนาดยาวกว่าให้เลือกมากกว่า YouTube และเว็บนี้ watchmovies24.net ได้นำวีดิโอภาพยนต์จาก youku.com และ tudou.com ไปแปะไว้ที่เว็บของเขา ใครชอบเรียนภาษาอังกฤษจากภาพยนต์เข้าไปได้เลย บางเรื่องมี subtitle เป็นภาษาอังกฤษ (ควบภาษาจีน) ให้อ่านพร้อมฟัง soundtrack ภาษาอังกฤษด้วย

2. youku.com และ tudou.com ไม่ค่อยเคร่งครัดเรื่องการละเมิด copyright เท่ากับ YouTube จึงมีวีดิโอให้ชมหลากหลายมากกว่า YouTube

การชมวีดิโอจากเว็บถ้าจะดูให้สนุกมักจะต้องใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือไม่อย่างนั้นก็ควรจะ download ไฟล์วีดิโอเก็บไว้ให้เรียบร้อยเสียก่อนเมื่อเปิดดูจึงราบเรียบไม่ติดขัด
จึงขอแนะนำโปรแกรมและวิธีที่สามารถดาวน์โหลดวีดิโอจาก 2 เว็บนี้ และที่ต้องแนะนำหลายโปรแกรมหรือหลายวิธีก็เพราะว่า บางโปรแกรมก็ใช้ได้ผลกับบางคลิปเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าท่านใช้โปรแกรมหรือวิธีที่หนึ่งไม่ได้ผล ก็อาจจะต้องใช้วิธีที่ 2, 3, 4… ในการดาวน์โหลด

วิธีดาวน์โหลดที่ขอแนะนำ


1.ดาวน์โหลดผ่านเว็บ http://clipnabber.com/
โดยนำ url ของวีดิโอขณะที่ท่านเปิดชมอยู่ ไปแปะในช่องของเว็บนี้เพื่อดาวน์โหลด

2.ดาวน์โหลดโดยใช้โปรแกรม realplayer
ดาวน์โหลดวีดิโอจากเน็ต & TV โดยใช้ RealPlayer

3.ดาวน์โหลดโดยใช้โปรแกรม http://www.leawo.com/youtube-download/

4. ดาวน์โหลดโดยใช้โปรแกรม Sothink SWF Catcher for IE
อ่านคำแนะนำที่ลิงค์นี้ครับ http://www.select2web.com/computer/flash-download-with-ie.html

5.วิธีอื่น ๆ อ่านคำแนะนำที่ลิงค์นี้ [1169] 4 วิธีในการดาวน์โหลดวีดิโอจากเว็บ

เชื่อว่า youku.com และ tudou.com จะเป็นอีก 2 แหล่งที่ช่วยให้ท่านศึกษาภาษาอังกฤษผ่านวีดิโอได้อย่างสนุกสนานและได้ผล


ขอขอบคุณ อ. พิพัฒน์ ที่ช่วยให้เราฝึกภาษาอังกฤษ ได้เก่งขึ้น.....ถ้าท่านสนใจทดลองทำตามได้เลย..

การศึกษา




>การศึกษา - 10 เคล็ดลับ เรียนภาษาต่างประเทศให้ได้ผล




ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างทุกวันนี้ ภาษาที่สองและสาม สี่ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ คือสิ่งจำเป็นที่จะทำให้คุณดูโดดเด่น และแตกต่างจากคนอื่น และนี่คือเคล็ดลับง่าย ๆ ในการเรียนภาษาต่างประเทศให้ได้ผล
1.ยอมรับความจริง

ไม่มีใครพูดภาษาที่สองได้ตั้งแต่เกิด ทุกคนต้องใช้เวลาในการเรียนรู้กันทั้งนั้น ฉะนั้นอย่าคาดหวังว่าจะต้องเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่เริ่มต้น

2.เรียนรู้ทีละนิด

จากการศึกษาพบว่า การทบทวนเป็นระยะเวลาสั้นๆ อย่างเช่น ในระหว่างทานอาหารเช้า ในขณะอาบน้ำ หรือในขณะเดินทาง จะส่งผลให้คุณจดจำได้ดีกว่า

3.ท่องศัพท์

ยิ่งคุณรู้ศัพท์มากเท่าไหร่ คุณก็สามารถพูดและเข้าใจได้มากขึ้นเท่านั้น เทคนิคในการจดจำคำศัพท์ คือ พกการ์ดใบเล็กๆที่เขียนคำศัพท์ (ที่มีคำแปลอยู่ด้านหลัง) ไปกับคุณทุกที่

4.ฝึกหัดอย่างจริงจัง

อย่าแค่ทำปากขมุบขมิบหรือท่องเอาไว้ใสใจ พูดหรืออ่านออกมาดังๆ ในทุกครั้งที่มีโอกาส เพื่อจะได้ฝึกปากของคุณให้เคยชินกับการออกเสียง

5.ทำการบ้าน

การทำการบ้านคือการฝึกฝนทักษะการใช้ภาษาให้เป็นไปอย่างแม่นยำ จนกลายเป็ความชำนาญ และสามารถทำออกมาได้อย่างอัตโนมัติในที่สุด

6. จับกลุ่มเรียน

หาเวลาทบทวน ทำการบ้าน หรือแค่ฝึกพูดภาษานั้นๆ กับเพื่อนๆ เป็นประจำ ซึ่งจะช่วยแก้ไขข้อบกพร่องให้กันและกันได้ แถมยังทำคุณจดจำได้แม่นยำยิ่งขึ้นด้วย

7.หาจุดอ่อน

คุณควรหาจุดอ่อนในการเรียนของตัวเองให้เจอ เพื่อที่จะได้เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ อย่างเช่น ถ้าคุณเป็นคนเงียบๆ และไม่ค่อยมีส่วนร่วมในชั้นเรียน ก็บังคับตัวเองให้เลือกที่นั่งแถวหน้าในห้องเรียนซะ

8. หาโอกาสในการใช้ภาษา

เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับภาษานั้นๆ ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับเจ้าของภาษาเช่าหนังที่พูดภาษานั้นๆ มาดูหรือแม้กระทั่งหาแฟนที่เป็นเจ้าของภาษานั้นซะเลย

9. ทุ่มความสนใจ

พูดง่ายๆ ก็คือ หายใจเข้าออกก็ให้เป็นภาษานั้น เรียนรู้ภาษานั้นๆ ทั้งในและนอกห้องเรียนอย่างจริงจังและเต็มที่ถึงขนาดถึงขนาดถ้าฝันได้ก็อาจฝันเป็นภาษานั้นๆ ด้วย

10. ปรึกษาผู้รู้

ถ้ามีปัญหาหรือติดขัดอะไร ก็ต้องสอบถามครูผู้สอนหรือเจ้าของภาษานั้นทันที เพื่อทำลายกำแพงที่เป็นอุปสรรคในการเรียนออกไปให้เร็วที่สุด คุณจะได้ไม่ต้องสะดุดอยู่นานเกินไปซึ่งนั้นอาจทำให้คุณเกิดความเบื่อหน่ายได้



วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คาถา..เพื่อขอคู่ครอง

คาถาสวดเพื่อ..สำหรับคนที่ไม่มีคู่...ไม่มีแฟน....โดยครูอารี

ชาติที่แล้วเราไปผูกมัดใครไว้บ้างก็ไม่รู้ด้วยคำสัญญา เช่น เราจะรักกันทุกชาติไป โดยหารู้ไม่ว่ากรรมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ชาติภพใหม่ก็เลยแตกต่างกันไป แต่คำมั่นที่สาบานยังอยู่ อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณยังเป็นโสดจนทุกวันนี้ ลองสวดมนต์บทนี้ดูอาจจะดีขึ้นนะ คำขอขมาและอธิษฐานจิต อธิษฐานหน้าพระพุทธรูป หรือสวดก่อนนอนก็ได้

( นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ 3 จบ )

สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต อุกาสะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต

หากข้าพเจ้า จงใจหรือประมาทพลาดพลั้ง ล่วงเกิน บิดา-มารดา ครูบาอาจารย์ พระพุทธ พระธรรม พระอรหันต์ทุกพระองค์ พระอริยสงฆ์เจ้า ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย รวมถึงผู้มีพระคุณ และท่านเจ้ากรรมนายเวร จะด้วย กาย วาจา ใจ ก็ดี ขอได้โปรดอโหสิกรรมข้าพเจ้าด้วย
หากข้าพเจ้ามีเจ้าของในตัวติดตามมา ขออนุญาตมีคู่ มีครอบครัวได้เหมือนคนปกติทั่วไป ขอถอนคำอธิษฐาน คำสาบานที่จะติดตามคู่ในอดีต ขอให้ต่างฝ่ายต่างเป็นอิสระต่อกัน ข้าพเจ้าจะประพฤติตนในทางที่ถูก ที่ชอบ ที่ควร ขอบุญบารมี ในอดีตกาลที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
จงส่งผลให้ข้าพเจ้าและครอบครัว ตลอดจนบริวารที่เกี่ยวข้อง จงเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ สติ ปัญญา ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ อุปสรรคใดๆ โรคภัยใดๆ ขอให้มลายสิ้นไป ขอให้ข้าพเจ้ามีความสว่างทั้งทางโลก ทางธรรมตั้งแต่บัดนี้ตราบเข้าสู่พระนิพพานเทอญ
สำหรับคาถาขอมีคู่นี้..ได้ค้นหามาจาก ร้อยคำหอม...ขอขอบคุณ

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การตกแต่ง BLOG

สำหรับ Blogger คนไหนก็ตามที่ได้ทำการใช้งาน Theme ของบล็อก รุ่นเก่ามานานแล้วอยากจะเปลี่ยนหน้าตา หรือแต่ง blog ให้สวย เช้งวับ เป็นที่ประทับใจ ทำให้หน้าตาของเว็บบล็อกเราเป็นเว็บไซต์สำเร็จรูป ระดับมืออาชีพ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เวลาเอา บล็อก ไป หาเงิน ขายของออนไลน์ แล้วละก็ คงจะต้องเลือกเข้าไปใช้งานเมนู การออกแบบบล็อก ด้วย Draft blogger แน่นอน

ที่นี้เรามาดูกันว่าเราจะแต่ง Blogger ให้สวย ด้วย Draft blogger ได้อย่างไรบ้าง ขั้นแรกให้เราเข้าไปที่เมนูของ บล็อก ของเรา เลย แล้งเลือก การออกแบบ - เลือก เครื่องมือออกแบบแม่แบบ เสร็จแล้วเราก็จะมาอยู่หน้า เครื่องมือออกแบบเทมเพลตบล็อกเกอร์

คราวนี้เราจะเจอเมนูในการปรับแต่ง Blog ของเรา พร้อมกับแสดงหน้าบล็อก ปัจจุบันให้ดูไปด้วยขณะทำการตกแต่งบล็อก เมนูที่มีมาให้ในหน้า เครื่องมือออกแบบเทมเพลตบล็อกเกอร์ มีดังนี้

เทมเพลตบล็อก จะประกอบไปด้วย Blogger Theme จำนวน 6 Theme ซึ่งแต่ละธีมก็มีรายละเอียดสีสันของบล็อก แตกต่างกันไป เราสามารถเลือก Theme ของบล็อก กับไปมาได้ตลอดเวลาตามที่เราต้องการจะแต่งบล็อกให้สวยสมใจเรา

พื้นหลังของบล็อก ประกอบไปด้วยเมนูในการจัดแต่งสีสันให้กับสีพื้นหลังของ Blog ของเราให้สวยสะดุดตา

เมนูปรับความกว้างให้ บล็อก อันนี้สามารถใช้ย่อ ขยายความกว้างของบล็อก และแถบเมนูด้านข้าง ทั้งซ้ายและขวา ได้ตามชอบ เมนูนี้ Draft Blogger ออกแบบมาให้บรรดาสาวกของบล็อกได้ใช้งานกันเต็มที่ ไม่จำกัดอยู่แค่กรอบเดิมๆ ถือว่าเป็นเมนูคำสั่งที่โดนใจชาว Blogger มาก

เมนูรูปแบบบล็อก อันนี้เราสามารถเลือกใช้งานรูปแบบ Bogspot ของเรา ว่าจะให้มีแถบเมนูด้านข้าง หรือไม่มี จะให้บล็อกของเรามีกี่ คอลัมน์ 1 -2 หรือ 3 ก็แล้วแต่จะแต่งบล็อกของเราให้สวยแบบไหน

เมนูจัดแต่งบล็อกขั้นสูง เมนูบล็อก อันนี้ เอาไว้จัดการสีของชื่อบล็อก คำอธิบายบล็อก ลิงค์ต่างๆของ Blog ที่เราต้องการแต่งให่สวย ไม่แพ้ เว็บสำเร็จรูป ในรูปแบบอื่นๆ

หลังจากที่เรา เลือกสร้างบล็อกส่วนตัว ด้วย Blogger.com แล้วต่อมาการตกแต่ง Blog ให้สวย ด้วย Draft Blogger ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น Blog ยิ่งสวย ก็ยิ่งทำให้คนเข้าชมอยากมาใหม่ ยิ่งมีคนเข้ามาเยี่ยมบล็อก ของเรามาๆ เราก็มีโอกาสขายของออนไลน์ ผ่านบล็อกของเราได้มากครับ โดยเฉพาะ การเอา Blogger ขายของ Amazon ยอดขายจะพุ่งกระฉูดทีเดียว วันหน้า จะพูดเรื่อง Blogger Amazon ต่อไป