ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การพูด



หลักการพูด
หลักการพูดโดยทั่วไป
๑. ศึกษาเกี่ยวกับผู้ฟังและสิ่งแวดล้อม
๒. เลือกเรื่องและจัดเนื้อเรื่องที่พูด
๓. เตรียมตัวผู้พูด
๑. ศึกษาเกี่ยวกับผู้ฟังและสิ่งแวดล้อม มีรายละเอียดดังนี้
๑.๑ ศึกษาผู้ฟังว่าอยู่ในวัยใด เพศใด การศึกษาระดับใด อาชีพอะไร
๑.๒ ศึกษาผู้ฟังว่ามีเจตคติ อารมณ์ และรสนิยมอย่างไร
๑.๓ ศึกษาสภาพแวดล้อม เช่น สถานที่ที่จะพูด ช่วงเวลา
๒. เลือกเรื่องและจัดเนื้อเรื่องที่พูด
๒.๑ การเลือกเรื่อง ควรเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้ฟังเป็น
เรื่องที่แปลกใหม่
๒.๒ การจัดเนื้อเรื่อง เริ่มจาก คำนำ ต้องดึงดูดความสนใจ ไม่กล่าวถ่อมตัว แก้ตัว หรือกล่าวถึงความเป็นมาของเรื่องไกลเกินไป ควรเป็นใจความเพียง ๒ – ๓ ประโยค ส่วนเนื้อเรื่องต้องเป็นข้อเท็จจริง หลักฐาน เหตุผล และตัวอย่างที่ชัดเจน การสรุปไม่ใช่การย่อเรื่องที่พูดแล้ว แต่เป็นการเน้นประเด็นสำคัญด้วยถ้อยคำสำนวนที่เด่นเป็นพิเศษ เพื่อสร้างความประทับใจ
๓. เตรียมตัวผู้พูด
ผู้พูดที่ไม่มีประสบการณ์ในการพูดในที่ประชุมชนมาก่อนมักตื่นเต้น ประหม่า เสียงสั่น ท่าทางเคอะเขิน อันเป็นลักษณะของการขาดความมั่นใจใน ตนเอง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การพูดล้มเหลวผู้พูดจึงควรเตรียมตัวและฝึกฝนการพูดอยู่ตลอดเวลา เพื่อความมั่นใจในตนเอง นอกจากนี้ยังต้องมีการเตรียมตัวดังนี้

การเตรียมบุคลิกภาพ
ข้อแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมบุคลิกภาพที่ดีของผู้พูด มีดังนี้
๑. การแต่งกาย
๑.๑ เหมาะสมกับตัวเอง
๑.๒ เหมาะสมกับกาลเทศะ
๑.๓ เหมาะสมกับวัยและสมัยนิยม
๑.๔ สะอาดและเป็นระเบียบ
๒. การใช้เสียง
๒.๑ มีความดัง – ค่อย พอเหมาะที่ผู้ฟังจะได้ยินทั่วไป
๒.๒ มีความนุ่มนวล แจ่มใส ชัดเจน ไม่แหบเครือ
๒.๓ ออกเสียง ร ล ควบกล้ำ ได้ชัดเจน
๒.๔ หลีกเลี่ยงการใช้เสียงระดับเดียวกันตลอดเวลา ควรมีการเน้นน้ำเสียงบ้าง
๒.๕ ไม่ควรใช้เสียงที่เปล่งออกมาโดยไร้ความหมาย เช่น อ่า อ้า เอ่อ เอ้อ หรือ เสียงที่เปล่งออกมาจากความเคยชิน เช่น ก็ แล้วก็ แบบ แบบว่า นะครับ ครับ นะคะ นะฮะ เป็นต้น
๓. ภาษา
๓.๑ ใช้ข้อความหรือประโยคที่สั้น เข้าใจง่าย (ง่าย งาม ชัดเจน)
๓.๒ ใช้ภาษาถูกต้องตามหลักภาษาไทย
๓.๓ ใช้ภาษาสนทนาที่สุภาพ ไม่เป็นภาษาเขียนหรือภาษาราชการ แต่ไม่ใช่ภาษาตลาด
๓.๔ หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาสแลง สบถ คำหยาบ คำภาษาต่างประเทศโดยไม่จำเป็น ศัพท์ทางวิชาการที่ไม่เหมาะสมกับผู้ฟัง รวมทั้งคำที่ไม่สุภาพจนเกินไป เช่น ศรีษะแม่เท้า แมวรับประทานปลา
๓.๕ ใช้ภาษาให้เหมาะสมกับบุคคลและโอกาส
๔. ท่วงทีและอากัปกิริยาที่เหมาะสม สามารถช่วยเสริมสร้างการพูดได้ดังนี้
๔.๑ ช่วยในการสื่อความหมายให้ผู้ฟังเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้พูดได้ดียิ่งขึ้น
๔.๒ เรียกร้องความสนใจจากผู้ฟัง
๔.๓ ช่วยผ่อนคลายความเคร่งเครียดของผู้พูด
๔.๔ ทำให้การพูดเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น
๕. การทรงตัว
๕.๑ ท่าเดิน เช่น เดินขึ้นเวที เดินในขณะพูด เดินกลับมายังที่เดิม ต้องเดินตัวตรง ไม่ช้าไม่เร็วเกินไป เมื่อถึงที่จะพูดควรหยุดสักครู่ กวาดสายตาให้ทั่วกลุ่มผู้ฟังแล้วจึงเริ่มพูด
๕.๒ ท่ายืน เท้าทั้งคู่ควรชิดกันพองาม ให้น้ำหนักตัวลงที่เท้าทั้งสอง ไม่ยืนเอียง ไม่เท้าโต๊ะ ไม่ยืนแอ่นหน้าแอ่นหลัง โคลงตัวไปมา ไม่ยืนเหมือนหุ่น หรือยืนท่านางแบบ
๖. การใช้มือประกอบการพูด
๖.๑ ใช้ให้ตรงความหมายที่พูด
๖.๒ ไม่ใช้ซ้ำซาก
๗. การใช้สายตา
๗.๑ ควรมองผู้ฟังให้ทั่วถึง อย่ามองจุดเดียว
๗.๒ ถ้ากลุ่มผู้ฟังกลุ่มใหญ่ ค่อยๆ กวาดสายตาไปยังผู้ฟังกลุ่มต่างๆ
๗.๓ ควรมองสบตาไม่ใช่จ้องหรือหลบตา
๗.๔ ไม่มองข้ามศีรษะผู้ฟัง ไม่มองเพดาน พื้นห้อง หรือมองออกไปนอกห้องตลอดเวลา
๘. การแสดงสีหน้า
๘.๑ แสดงสีหน้าให้สอดคล้องตามเรื่องที่พูด แต่ไม่แสดงมากเกินไปจนเหมือนเล่นละคร
๘.๒ ไม่ยิ้มหรือบึ้งมากเกินไป
๘.๓ ไม่ยักคิ้วหลิ่วตา กระพริบตาจนบ่อยครั้ง
๙. ปฏิภาณไหวพริบ
ขณะที่พูดอยู่อาจมีปัญหาเฉพาะหน้าเกิดขึ้น ปัญหาที่ไม่คาดคิดนี้ ผู้พูดจะต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบ เพื่อแก้ไขปัญหาในการพูดให้ราบรื่นด้วยดี
๑๐. การลำดับหัวข้อเรื่อง
คือ รายละเอียดในการวางโครงเรื่อง เป็นการจัดสาระสำคัญของข้อความทั้งหมดให้สอดคล้องและเป็นระเบียบต่อเนื่องกันไป ช่วยให้ผู้พูดและผู้ฟังไม่สับสน
๑๑. การดำเนินเรื่องตามความมุ่งหมาย
ผู้พูดควรคำนึกถึงจุดมุ่งหมายที่ได้วางไว้ เช่น พูดเพื่อให้ความรู้ พูดเพื่อชักจูงใจ หรือพูดเพื่อความบันเทิง พยายามดำเนินเรื่องสู่จุดมุ่งหมายนั้นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น